คำซ้ำ คือ การนำคำคำเดียวกันมาเขียนซ้ำเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ โดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) คำซ้ำจึงเป็นการสร้างคำในภาษาเพื่อเพิ่มจำนวนคำให้มีคำใช้ในภาษามากขึ้น
1.ลักษณะทั่วไปของคำซ้ำ
1.1 คำซ้ำบางคำอาจจะมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมหรืออาจจะเหมือนเดิม เช่น ถ้านำคำนามมาเป็นคำซ้ำ มักจะได้ความหมายที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ มีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น "ใครๆ" จะหมายถึง คนหลายๆ คน
1.2 ถ้าเป็นคำซ้ำที่ใช้ในบทร้อยกรองจะไม่สามารถใช้เครื่องหมาย "ๆ" จะใช้ได้เฉพาะใน ร้อยแก้วเท่านั้น เช่น รอนรอนสุริยะโอ้ อัสดง, เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว
1.3 คำซ้ำที่มีพยางค์เดียวเมื่ออ่านออกเสียงจะลงเสียงหนักที่พยางค์หลังชนิดของคำซ้ำ
2. แบ่งตามความหมายของคำที่เปลี่ยนไป ดังนี้
2.1 คำซ้ำที่มีความหมายเป็นพหูพจน์ เช่น
หนุ่มๆ หน้าตาดีทุกคน
เพื่อนๆ ช่วยกันพรวนดิน
เด็กๆ ทุกคนนอนหลับ
2.2 คำซ้ำที่มีความหมายอ่อนลง เช่น
หน้าของเธอคล้ายๆ นักร้องคนนั้น
กล่องกระดาษสีน้ำตาลๆ เป็นของใคร
คุณย่ายังเคืองๆ พุดซ้อนเรื่องที่ทำโถข้าวแตก
2.3 คำซ้ำที่มีความหมายเพื่อเน้น เช่น
ทำไมเธอต้องใช้แต่ของแพงๆ
กินขาหมูทุกวันมีแต่มันๆ แบบนี้ร่างกายจะได้รับสารอาหารครบไหม
ฉันไม่ชอบรับประทานอาหารที่รสจัดๆ
2.4 คำซ้ำที่มีความหมายไม่เจาะจง เช่น
ที่ทำงานของน้องอยู่แถวๆ สาทร
อะไรๆ ฉันก็กินได้ทั้งนั้น
ค่ำๆ ฉันจะไปดูละครเวที
2.5 คำซ้ำที่มีความหมายแยกเป็นส่วนๆ เช่น
คุณครูจัดนักเรียนให้ยืนเป็นแถวๆ
เธอควรอ่านหนังสือให้จบไปเป็นเล่มๆ
นักเรียนควรเขียนรายงานเป็นหัวข้อๆ
2.6 คำซ้ำที่มีความหมายต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้ง เช่น
ปิดเทอมนั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านก็เบื่ออยากไปโรงเรียน
เขากลับไปคิดๆ ดูแล้วว่าเขาผิดจริงเลยจะไปง้อเธอ
2.7 คำซ้ำที่เป็นสำนวน มีเพียงคำซ้ำบางคำเท่านั้นที่มีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมไปเป็นสำนวน
3. ข้อสังเกตของคำซ้ำ
3.1 คำซ้ำบางคำที่ปกติเป็นคำซ้ำอยู่แล้วมักจะไม่นำมาใช้ในแบบไม่ใช่คำซ้ำ เช่น หยกๆ หลัดๆฉอดๆ เป็นต้น
3.2 คำบางคำไม่ใช่คำซ้ำ ดังนั้นจึงไม่ใช้ไม้ยมก (ๆ) เช่น จะจะ หมายถึง กระจ่าง จะไม่ใช้
ไม้ยมก
3.3. คำที่มาจากภาษาอื่น เช่น มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เช่นคำว่า นานา มาจากภาษาจีนเช่นคำว่า เชาเชา คำเหล่านี้ก็ไม่ใช่คำซ้ำจึงไม่ใช้ไม้ยมก (ๆ)
Comments