คำ คือ หน่วยของภาษาที่สื่อถึงความหมาย ซึ่งประกอบด้วยพยางค์หนึ่งพยางค์หรือมากกว่าปกติแล้วในแต่ละคำจะมีรากศัพท์ของคำแสดงถึงความหมายและที่มาของคำนั้น โดยการนำคำหลายคำมาประกอบกันจะทำให้เกิดวลีหรือประโยคซึ่งใช้สื่อความหมายให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ชนิดของคำ คำในภาษาไทยมี 7 ชนิด ดังนี้
1. คำนาม คือ คำที่ทำหน้าที่เป็นชื่อของสิ่งของใดๆ เช่น สิ่งมีชีวิต วัตถุ สถานที่ การกระทำ คุณสมบัติ สถานะ อาการ หรือแนวคิด เป็นคำที่ใช้เป็นประธานหรือกรรมของประโยค บางครั้งก็ใช้ขยายคำนามด้วยกันได้ ชนิดของคำนาม แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้
1.1 สามานยนาม หรือเรียกว่าคำนามทั่วไป คือ คำนามที่ใช้เป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไป ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง เช่น นักเรียนกินอาหารเช้า กวางเดินอยู่ในกรง วัวตัวนี้ให้นมเยอะมาก ตำรวจนั่งอยู่ใต้ต้นไม้
1.2 วิสามานยนาม หรือเรียกว่าคำนามเฉพาะ คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อเฉพาะของคน สัตว์ หรือสถานที่ เป็นคำเรียกเจาะจงลงไปว่า เป็นใครหรือเป็นอะไร เช่น ศาลเจ้าเซียนแปะโรงสีนั้นอยู่ที่ปทุมธานีนี่เอง ตั้งอยู่ที่วัดศาลเจ้า ต.บ้านกลาง อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี, ศาลเจ้าพ่อเสือตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๓), ทุเรียนนนท์มีเนื้อละเอียด นุ่ม รสชาติอร่อย เพราะดินในแถบนี้เป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารของพืชอย่างสมบูรณ์, ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
1.3 สมุหนาม คือ คำนามที่ทำหน้าที่แสดงหมวดหมู่ของคำนามทั่วไป และคำนามเฉพาะ เช่น
คณะทัวร์แวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง,บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย
1.4 ลักษณนาม คือ คำนามที่บอกลักษณะของคำนาม เพื่อแสดงรูปลักษณะ ขนาด ปริมาณ
ของคำนามนั้นให้ชัดเจน เช่น บ้าน 1 หลัง, โต๊ะ 5 ตัว คำว่า หลัง และ ตัว เป็นลักษณนาม
1.5 อาการนาม คือ คำนามที่เป็นชื่อกิริยาอาการ เป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง มักมีคำ ว่า "การ" และ "ความ" นำหน้า เช่น การกิน การเดิน การอ่าน การเขียน ความรัก ความดี ความคิด ความฝัน เป็นต้น
2. คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนามในประโยค โดยใช้คำสรรพนามเพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก ชนิดของคำสรรพนาม แบ่งออกเป็น 7 ชนิด ดังนี้
2.1 สรรพนามที่ใช้ในการพูด(บุรุษสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้ในการพูดสื่อสารกัน ระหว่าง ผู้ส่งสาร (ผู้พูด) ผู้รับสาร (ผู้ฟัง) และผู้ที่กล่าวถึง มี 3 ชนิด ดังนี้
2.2 สรรพนามที่ใช้เชื่อมประโยค (ประพันธสรรพนาม) คือ สรรพนามนี้ใช้แทนคำนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าและต้องการจะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังใช้เชื่อมประโยคสองประโยคเข้าด้วยกัน เช่น รถที่พ่นสีขาวเป็นรถของเธอ (ที่ แทน รถ เชื่อมประโยคที่ 1 รถทาสีขาว กับ ประโยคที่ 2 รถของเธอ)
2.3 สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ (วิภาคสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่อยู่ข้างหน้าเมื่อต้องการกล่าวซ้ำ โดยที่ไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก และเพื่อแสดงความหมายแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แก่คำว่า บ้าง ต่าง กัน เช่น นักเรียนต่างช่วยกันทำความสะอาดห้องเรียน
2.4 สรรพนามชี้เฉพาะ (นิยมสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าวถึงที่อยู่ เพื่อระบุให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า นี่ นั่น โน่น โน้น เช่น นี่เป็นปากกาที่น้องชอบมากที่สุด
2.5 สรรพนามบอกความไม่เจาะจง (อนิยมสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามที่กล่าว ถึงโดยไม่ต้องการคำตอบ ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่คำว่า ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด สิ่งใด ใครๆ อะไรๆ ใดๆ เช่น ใครใครก็ชอบความสวยงามของธรรมชาติ
2.6 สรรพนามที่เป็นคำถาม (ปฤจฉาสรรพนาม) คือ สรรพนามที่ใช้แทนคำนามเป็นคำถามได้แก่คำว่า ใคร อะไร ไหน ผู้ใด เช่น นิตาเลือกเรียนต่อคณะอะไร
2.7 สรรพนามที่เน้นตามความรู้สึกของผู้พูด สรรพนามชนิดนี้ใช้หลังคำนามเพื่อบอกความ รู้สึกของผู้พูดที่มีต่อบุคคลที่กล่าวถึง เช่น คุณตาท่านเป็นคนใจดีและมีเมตตามาก
3. คำกริยา คือ คำที่ใช้บ่งบอกถึงการกระทำ ท่าทาง อาการ และสภาพของสิ่งต่างๆ เช่น เดิน
ชนิดของคำกริยา แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ดังนี้
3.1 อกรรมกริยา คือ กริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารองรับ เช่น เขาเดินเร็วมาก, เขาวิ่ง
3.2 สกรรมกริยา คือ กริยาที่ต้องมีกรรมมารองรับ เช่น ฉันกินขนมปังทุกเช้า เขามองผู้หญิงคนที่นั่งอยู่ได้ต้นไม้
3.3 กริยาอาศัยส่วนเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา) คือ คำกริยาที่ต้องมีคำมาประกอบเพื่อให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์ แต่คำที่ตามมานั้นไม่ใช่กรรม ได้แก่คำว่า เป็น เหมือน คือ คล้าย เช่น คนขยันคือผู้มีเกียรติ คนอ่านหนังสือเป็นคนฉลาด
3.4 กริยาช่วย (กริยานุเคราะห์) คือ กริยาที่ใช้ประกอบหรือช่วยกริยาหลักของประโยค อาจประกอบข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้ ได้แก่คำว่า อย่า จะ คง ถูก เช่น นักเรียนถูกตี ครูให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด อย่าทำเขา เขายังไม่ทำ เขาต้องนอน เขากินข้าวอยู่ เขาได้ไปแล้ว เขาเคยมาเสมอ เขาถูกตี เขาทำแล้ว
กริยาช่วยอยู่หน้ากริยา ได้แก่คำว่า คง คงจะ คงต้อง ควร ควรจะ เคย เคย...แล้วจะ จะต้อง ช่วย ได้ ได้...แล้ว ถูก น่าจะ น่าจะต้อง เป็นต้น เช่น รถไฟคงจะมาแล้ว เราควรเรียนภาษาที่ 3 คุณปู่จะต้องนอนอยู่ที่โรงพยาบาล เด็กควรจะนอนแต่หัวค่ำ
กริยาช่วยอยู่ท้ายประโยค เพื่อเสริมความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่คำว่า ซิ นะ น่ะ ล่ะ ละนะ เถิด สิ ดอก หรอก เช่น เธอไปด้วยกันนะ มาเล่นด้วยกันสิ ฉันไปละนะ ฉันไม่เสียใจหรอก
ข้อสังเกต คำช่วยกริยานี้สามารถนำออกจากประโยคได้โดยไม่ทำให้ประโยคขาดความสมบูรณ์ แต่ขาดความชัดเจน คำกริยานุเคราะห์ต้องเป็นคำกริยา 2 จำพวก ดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งนำมาใช้ช่วยกริยาอื่นให้มีเนื้อความตามหน้าที่กริยา ไม่ใช่คำกริยาหรือคำอื่นที่นำมาใช้เป็นคำวิเศษณ์ประกอบกริยาให้มีความแปลกออกไป
4. คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์เอง เพื่อให้ได้ใจความที่ชัดเจนขึ้น คำวิเศษณ์มักจะอยู่หลังคำที่นำมาขยาย ได้แก่คำว่า สูง ต่ำ ดี ชั่ว ดำ ขาวเป็นต้น ชนิดของคำวิเศษณ์ แบ่งออกเป็น 10 ชนิด ดังนี้
4.1 ลักษณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกลักษณะต่างๆ เช่น บอกสี เช่น เสื้อสีดำ, พระอาทิตย์สีแดง, บอกขนาด เช่น บ้านหลังใหญ่ ปลาตัวเล็กๆ กำลังว่ายน้ำ, บอกสัณฐาน เช่น พระจันทร์คืนนี้ดูกลมโตและสว่างกว่าวันลอยกระทง แม่ซื้อจานแบนสีขาวมา 1 โหล, บอกกลิ่น เช่น ขยะส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ, ดอกไม้หอมอบอวลไปทั่วห้อง, บอกรส เช่น มะนาวช่วยทำให้ต้มยำมีรสเปรี้ยว, พ่อชอบกินน้ำหวาน, บอกความรู้สึก เช่น วันนี้อากาศร้อน บนภูเขามีอากาศเย็น
4.2 กาลวิเศษณ์ คือ คำวิเศษ์บอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น อดีต อนาคต เป็นต้น เมื่อวานเป็นวันสงกรานต์ พรุ่งนี้เขาจะไปกับเธอ ฉันมีนัดดูหนังตอนบ่ายๆ
4.3 สถานวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกสถานที่ เช่นคำว่า ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ ซ้ายขวา เป็นต้น ฉันเดินข้างหน้าคุณแม่ บ้านอยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาล ปากกาวางอยู่บนโต๊ะ
4.4 นิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความชี้เฉพาะ เช่นคำว่า นี้ นั่น โน่น ทั้งนี้ ทั้งนั้น แน่นอน เป็นต้น มะรืนนี้ฝนตกแน่นอน กระโปรงตัวนี้สวยดี
4.5 อนิยมวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่บอกความไม่ชี้เฉพาะ เช่นคำว่า ใด อื่น ไหน อะไร ใคร ฉันใด เป็นต้น เธอจะมาเวลาใดก็ได้ คุณจะนอนตรงไหนก็ได้ อะไรๆ ก็ฉัน
4.6 ปฤจฉาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษ์แสดงคำถาม หรือแสดงความสงสัย เช่นคำว่า ใด ไร ไหน อะไร สิ่งใด ทำไม เป็นต้น วิชาใดที่นักเรียนชอบที่สุด เมื่อไรหนอที่เธอจะกลับมา คนไหนคือผู้ว่าราชการจังหวัด
4.7 ประพันธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ทำหน้าที่เชื่อมคำหรือประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกันเช่นคำว่า ที่ ซึ่ง อัน เป็นต้น ผู้หญิงที่นั่งอยู่ตรงศาลาคือยายของฉัน
4.8 ประมาณวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์บอกจำนวนหรือปริมาณ เช่นคำว่า หนึ่ง สอง สาม มาก น้อย บ่อย หลาย บรรดา ต่าง บ้าง เป็นต้น เขามีกระเป๋าเดินทางสิบใบ มีสุนัขหลายตัวหลบฝนอยู่ใต้สะพานลอย เขาสอบได้ที่หนึ่งของระดับชั้น
4.9 ประติเษธวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่แสดงความปฏิเสธหรือไม่ยอมรับ เช่นคำว่า ไม่ ไม่ใช่มิ มิใช่ไม่ได้ หามิได้ เป็นต้น ปากกาด้ามนั้นไม่ใช่ของฉัน อยากลืมแต่ทำไม่ได้ ไม่รู้จริงๆว่าตกต้นไม้จะเจ็บขนาดนี้
4.10 ประติชญาวิเศษณ์ คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงการขานรับหรือโต้ตอบ เช่นคำว่า ครับ ขอรับ ค่ะ เป็นต้น คุณยายขาหนูกลับมาแล้วค่ะ ลูกขอรับผิดแทนตัวน้องเองขอรับ สวัสดีค่ะ/ครับ
5. คำบุพบท คือ คำที่ใช้เชื่อมคำนามกับคำนามและแสดงความสัมพันธ์ของคำนาม ใช้เป็นคำ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำหรือประโยค เช่น กับ แก่ แต่ ต่อ ด้วย โดย ตาม ข้าง ถึง จาก ในบน ใต้ สิ้น สำหรับ นอก เพื่อ ของ เกือบ ตั้งแต่ แห่ง ที่ เป็นต้น ชนิดของคำบุพบท แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
5.1 คำบุพบทที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำต่อคำ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคำนามกับคำนาม คำสรรพนามกับคำนาม คำนามกับคำกริยา คำสรรพนามกับคำสรรพนาม คำสรรพนามกับคำกริยา คำกริยากับคำนาม คำกริยากับคำสรรพนาม คำกริยากับคำกริยา เพื่อบอกสถานการณ์ให้ชัดเจน เช่น
5.1.1 บอกสถานภาพความเป็นเจ้าของ เช่น แม่ซื้อสวนของนายทองดี(นามกับนาม)
5.1.2 บอกความเกี่ยวข้อง เช่น เขาเห็นแก่กิน(กริยากับกริยา)
5.1.3 บอกการให้และบอกความประสงค์ เช่น คุณครูให้รางวัลแก่ฉัน(นามกับสรรพนาม)
5.1.4 บอกเวลา เช่น เขามาตั้งแต่เช้า(กริยากับนาม)
5.1.5 บอกสถานที่ เช่น เขามาจากต่างจังหวัด(กริยากับนาม)
5.1.6 บอกความเปรียบเทียบ เช่น พี่หนักกว่าฉัน(กริยากับสรรพนาม)
5.2 คำบุพบทที่ไม่มีความสัมพันธ์กับคำอื่น ส่วนมากจะอยู่ต้นประโยคใช้เป็นการทักทาย มักใช้ในคำประพันธ์ เช่นคำว่า ดูก่อน ข้าแต่ ดูกร คำเหล่านี้ใช้นำหน้าคำสรรพนามหรือคำนาม เช่น ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย, ข้าแต่ท่านทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
6. คำสันธาน คือ คำที่เชื่อมประโยคกับประโยคให้กลายเป็นประโยคความรวมหรือประโยคความซ้อน เป็นคำที่ใช้เชื่อมคำกับคำหรือกลุ่มคำ หรือเชื่อมข้อความกับข้อความ เพื่อทำให้ประโยค นั้นสมบูรณ์ เช่นคำว่า และ แล้ว จึง แต่ หรือ เพราะ เหตุเพราะ ชนิดของคำสันธาน แบ่งออกเป็น ชนิด ดังนี้
6.1 คำสันธานที่เชื่อมความคล้อยตามกัน ได้แก่คำว่า และ ทั้ง.....และ ทั้ง.....ก็ ครั้น.....ก็ครั้น.....จึง ก็ดี เมื่อ.....กว่า พอ......แล้ว เช่น ทั้งพ่อและแม่ของผมเป็นคนใต้ พอทำการบ้านเสร็จแล้วฉันก็นอน
6.2 คำสันธานที่เชื่อมความขัดแย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ แต่ว่า กว่า.....ก็ ถึง....ก็เช่น ผมต้องการพูดกับเขาแต่เขาไม่ยอมพูดกับผม กว่าเราจะเรียนจบเพื่อนๆ ก็ทำงานหมดแล้ว
6.3 คำสันธานที่เชื่อมข้อความให้เลือก ได้แก่คำว่า หรือ ไม่.....ก็ หรือไม่ก็ ไม่เช่นนั้น มิฉะนั้น.....
นักเรียนชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือภาษาไทย เธอคงไปซื้อของหรือไม่ก็ไปดูหนัง
6.4 คำสันธานที่เชื่อมความที่เป็นเหตุเป็นผล ได้แก่คำว่า เพราะ เพราะว่า ฉะนั้น......จึง ดังนั้นเหตุเพราะ เหตุว่า เพราะฉะนั้น.....จึง เช่น นักเรียนมาโรงเรียนสายเพราะฝนตกหนัก เพราะพิชยวรรณไม่ออกกำลังกายเธอจึงอ้วนมาก
หน้าที่ของคำสันธาน คือ
1) เชื่อมประโยคกับประโยค เช่น นิภาเป็นคนขยันแต่นิพนธ์เป็นคนขี้เกียจมาก ลูกทำงานหนักเพราะลูกอยากเห็นแม่พักผ่อน แพนเค้ก มดแดงและก้อยไปทัศนศึกษา
2) เชื่อมคำกับคำหรือกลุ่มคำ เช่น พริกขี้หนูและหัวหอมเป็นวัตถุดิบในการทำต้มยำ เธอชอบน้ำเต้าหู้หรือเต้าฮวยน้ำขิง คุณป้าถักเสื้อและผ้าพันคอไหมพรม วันนี้ผมมีนัดดูบอลกับเพื่อนๆ
3) เชื่อมข้อความกับข้อความ เช่น ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่เมืองไทย เขาขยันหมั่นเพียรไม่ยอมให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์เขาจึงร่ำรวย จนเกือบจะซื้อแผ่นดินไทยได้ทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้พี่น้องชาวไทยทั้งหลายจงตื่นเถิด จงขยันทำงานทุกชนิดเพื่อจะได้รักษาผืนแผ่น ดินของไทยไว้
7. คำอุทาน คือ คำที่เสริมขึ้นมาในประโยคเพื่อให้ประโยคมีอรรถรสยิ่งขึ้น เป็นคำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง แต่แสดงอารมณ์ของผู้กล่าวหรือเสริมคำในการพูดจากัน คำอุทานไม่จัดเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งหรือภาคใดภาคหนึ่งของประโยค เป็นส่วนที่เสริมคำเข้ามาเพื่อแสดงอารมณ์ คำอุทานมักอยู่หน้าประโยค มักใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (1) กำกับไว้ข้างหลัง ชนิดของคำอุทาน คำอุทานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
7.1 อุทานบอกอาการ ใช้แสดงความรู้สึกต่างๆ ในการพูด เช่น ดีใจ เสียใจ ตกใจ เป็นต้น เช่นอนิจจัง! อ๊ะ! อนิจจา! อุบ๊ะ! เอ! เอ้ย! เอ๊ว! เอ้อเฮอ! โอ! โอย! เป็นต้น คำเหล่านี้ใช้แสดงความรู้สึกที่ต่างกัน คือ พุทโธ่! ใช้แสดงความสงสาร, น้อยใจ, เสียใจ, แหม! แปลกใจหรือประหลาดใจ, โอ! รู้สึกเมื่อนึกอะไรขึ้นมาได้, หื้อหือ! ห้ามหรือทักท้วง, เฮ้ว! เยาะเย้ย, เอ๊ะ! ใช้แสดงความไม่เข้าใจหรือไม่พอใจ
7.2 อุทานเสริมบท ใช้เป็นคำสร้อยหรือคำเสริมบทต่างๆ เพื่อให้มีคำที่ครบถ้วนสมบูรณ์ กระชับตามที่ต้องการ มีทั้งหมด 2 ชนิด คือ
7.2.1 อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำสร้อย คือ คำอุทานที่ใช้เป็นสร้อยของโคลงและร่าย หรือใช้เป็นคำลงท้ายในบทประพันธ์ เพื่อให้พยางค์ครบตามบัญญัติของฉันทลักษณ์เท่านั้นเมื่อเติมลงไปแล้วจะไม่มีความหมายอะไรเพิ่มขึ้นในข้อความนั้น เช่น เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย, บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรื่องแฮ, อากาศจักจานผจง จารึก พอฤๅ, อุกคลุกพลุกเงยงัด คอคช เศิกแฮ
7.2.2 อุทานเสริมบทที่ใช้เป็นคำเสริม คือ คำอุทานที่ใช้ต่อถ้อยเสริมคำให้ยาวขึ้น แต่ไม่ต้องการความหมายที่เสริม มี 2 ชนิด ได้แก่
7.2.2.1 คำเสริมที่แทรกลงไปในระหว่างคำเพื่อให้เป็นสะพานเสียงทอดสัมผัสระหว่างคำหน้ากับคำหลัง เช่น โกหกพกลม เหล้ายาปลาปิ้ง สิงห์สาราสัตว์
7.2.2.2 คำเสริมที่เลียนเสียงคำเดิม จะเสริมข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้คำชนิดนี้ไม่มีความหมายอะไร แต่บางคำก็ช่วยกระชับความหรือเน้นเสียงให้หนักแน่นขึ้น และส่วนมากใช้ในภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน เช่น สัญญิงสัญญา กินขังกินข้าว ดื่มน้ำดื่มท่า หางงหางาน
Comments