พัฒนาการของการสื่อสาร
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ คำพูดเป็นรูปแบบของการสื่อสารขั้นพื้นฐาน ที่มีพัฒนาการขึ้นมาพร้อมๆ กับสังคมมนุษย์ ฮาโรลด์ เอ. อินนิส (Harold A. Innis) นักสังคมวิทยาชาวแคนาดาเชื่อว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการสื่อสารโครงสร้างทางสังคมจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น การนำวิธีการพิมพ์แบบใหม่เข้ามาใน ยุคแรกๆ เป็นเหตุให้ระบบศักดินาในยุโรปค่อยๆ หมดไป รูปแบบการเขียนเป็นการสื่อสารที่วิวัฒนาการขึ้น โดยเริ่มจากการวาดภาพตามผนังถ้ำ การเขียนอักษรภาพ หลังจากนั้นจึงเกิดการเขียนหนังสือ ซึ่งถือเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทแรกสุด ที่มนุษย์ใช้สำหรับบันทึกความรู้และ ถ่ายทอดเหตุการณ์ในสังคม จากนั้นการสื่อสารเริ่มมีในรูปแบบของวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และด้วยความพยายามและความต้องการของมนุษย์ ยังผลให้การสื่อสารก้าวไกลประกอบกับความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงเป็นยุคของการสื่อสาร ที่ก้าวไกลและมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของการรวบรวม การเก็บรักษา การถ่ายทอด และการรับข่าวสารของมนุษย์ (ชวรัตน์ เชิดชัย, 2540, น. 46-47)
ความหมายของการสื่อสาร
การสื่อสารหมายถึง การติดต่อระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีการต่างๆ อันทำให้ฝ่ายหนึ่งรับ รู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่งและเกิดการตอบสนอง การสื่อสารที่ดีมีผลสัมฤทธิ์ตามจุดมุ่งหมายคือ การสื่อสาร ที่ผู้ส่งสารได้ส่งเรื่องตรงตามความต้องการ และความหมายที่อยู่ในใจ ฝ่ายผู้รับสารก็สามารถรับรู้เข้าใจ แล้วปฏิบัติหรือตอบสนองตามที่ผู้ส่งสารต้องการได้ โดยมีภาษาเป็นเครื่องมือหรือเป็นสื่อกลางที่สำคัญ ที่สุดระหว่างมนุษย์
องค์ประกอบของการสื่อสารการสื่อสาร ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน
ผู้ส่งสาร (Sender) คือบุคคลซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นส่งสารไปยังผู้อื่น ผู้ส่งสารจะทำหน้าที่เป็น ผู้เข้ารหัส (Encodeing) อันเป็นการแปลสารให้อยู่ในรูปของสัญลักษณ์ ที่มนุษย์สร้างขึ้นแทนความคิด ได้แก่ ภาษา อารมณ์ และอากัปกิริยาท่าทางต่างๆ ผู้ส่งสารถือเป็นบุคคลสำคัญในการเป็นผู้เริ่มต้นทำให้กระบวนการสื่อสารนั้นเกิดขึ้น
สาร (Message) คือเรื่องราวที่มีความหมาย และแสดงออกมาโดยอาศัยภาษาหรือสัญลักษณ์ใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เกิดการรับรู้ร่วมกันได้
ช่องทางหรือสื่อ (Channel) คือช่องทาง หรือสื่อที่นำสารไปยังผู้รับสาร โดยทั่วไปแล้วสารจะถูกนำเข้าสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์ โดยผ่านประสาทสัมผัสทางใดทางหนึ่ง หรือหลายทาง ได้แก่ ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทกาย และประสาทลิ้น แต่ในการสื่อสารสำหรับคนที่อยู่ห่างไกลกัน มนุษย์จะใช้ช่องทางดังกล่าวไม่ได้ มนุษย์จะต้องสร้างสื่อขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องช่วยให้การติดต่อระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีความเป็นไปได้สื่อ (Media) หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นพาหะนำสารไปยังผู้รับสาร สื่อแบ่งออกเป็น 5 ประเภท
3.5 สื่อระคนหรือสื่อเฉพาะกิจ ได้แก่ สื่อที่นำสารได้ แต่ไม่อาจจัดไว้ในสื่อ 4 ประเภท ข้างต้น เช่น การแสดงต่างๆ วัตถุจารึก และหนังสือพิมพ์กำแพง
4. ผู้รับสาร (Receiver) คือผู้ที่รับรู้ความหมายตามเรื่องราว ที่ผู้ส่งสารส่งผ่านสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งมา และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการส่งสาร ผู้รับสารเป็นองค์ประกอบ สุดท้ายในกระบวนการสื่อสารที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าองค์ประกอบอื่นๆ เพราะในการรับสารหากผู้รับสารไม่พัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีทักษะในการคิดและรับรู้ความหมาย การสื่อสาร ก็จะไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร
องค์ประกอบของการสื่อสารนั้น ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารจะมีบทบาทร่วมกันอยู่ในกระบวนการสื่อสาร ถ้าไม่มีผู้ส่งสารและผู้รับสารแล้ว การสื่อสารก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในกระบวนการสื่อสารบางครั้งไม่อาจชี้ชัดได้ตายตัวว่า ใครเป็นผู้ส่งสาร และใครเป็นผู้รับสารเพราะในการสื่อสารนั้นทั้ง 2 คนต่างก็มีบทบาทเป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสาร โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป จนกว่าการสื่อสารจะบรรลุเป้าหมาย
วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร โดยทั่วไปการสื่อสารจะต้องมีวัตถุประสงค์ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร ซึ่งอาจแบ่งออก เป็น 4 แบบ
1. เพื่อแจ้งให้ทราบ คือการที่ผู้ส่งสารต้องการที่จะบอกกล่าว แจ้งหรือชี้แจงข่าวสาร ข้อมูล เรื่องราว เหตุการณ์ หรือสิ่งอื่นๆ ให้ผู้รับสารได้ทราบ และได้เข้าใจในเรื่องนั้นๆ
2. เพื่อให้การศึกษา และเพื่อเรียนรู้ หมายถึงผู้ส่งสารต้องการสอนวิชาความรู้ ข้อมูลหรือเรื่องราวที่เป็นวิชาการ
3. เพื่อเสนอหรือชักจูงใจเพื่อให้กระทำหรือตัดสินใจ หมายถึงผู้ส่งสารต้องการให้ผู้รับสารคล้อยตาม หรือยอมปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ส่งสาร
4. เพื่อให้เกิดความพอใจ หรือเพื่อหาความพอใจ หมายถึงผู้ส่งสารต้องการให้ผู้รับสารเกิดความรื่นเริงบันเทิงใจ จากสารที่ส่งไปให้
สัญลักษณ์ทางภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร สัญลักษณ์ทางภาษาที่ใช้ในการสื่อสารมีอยู่ 3 ทางด้วยกันคือ
ทางเสียง ได้แก่ ทักษะการฟังและการพูด
ทางตัวอักษร ได้แก่ ทักษะการอ่านและการเขียน
ทางกาย ได้แก่ การใช้ภาษาใบ้ การแสดงความรู้สึกนึกคิดด้วยสีหน้าท่าทางต่างๆ
การสื่อสารทั้ง 3 ทางนี้มีเป้าหมายที่สำคัญคือ ความต้องการของมนุษย์ในเรื่องความ
เข้าใจในความหมายของการสื่อสารซึ่งกันและกันทั้งสิ้น ภาษาเริ่มต้นจากการเข้าใจความหมาย จนเกิดเป็นความคิดรวบยอดที่เรามีอยู่เดิมแล้ว จึงสื่อด้วยตัวสัญลักษณ์หรือตัวอักษร ที่ใช้แทนเสียง
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ภาษาของมนุษย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
ภาษาถ้อยคำหรือเรียกว่า วัจนภาษา (Verbal Language) หมายถึงภาษาที่เป็นลายลักษณ์อักษรคำพูด
ภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำหรือเรียกว่า อวัจนภาษา (Non Verbal Language) หมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่สื่อความหมายได้ทั้งรูปรสกลิ่นและเสียง
มนุษย์สื่อสารกันด้วยภาษาที่มนุษย์คิดค้นขึ้น แต่สังคมของมนุษย์นั้นมีหลายระดับขึ้นอยู่กับประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อ จึงทำให้ภาษาถูกจัดแบ่งออกเป็นระดับตามฐานะความสัมพันธ์ เวลา และสถานที่
วัจนภาษาและอวัจนภาษา
1. วัจนภาษา (Verbal Language) ระดับของภาษา การใช้ภาษาเป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความ รู้สึก และสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันถูกกำหนดไว้อย่างน้อย 5 ระดับ (กระทรวง ศึกษาธิการ, 2548, น. 36-39) ดังนี้
1. ระดับพิธีการ ใช้สื่อสารกันในการประชุม ซึ่งเป็นพิธีการ เช่น การเปิดประชุมรัฐสภากล่าวอวยพร การกล่าวต้อนรับ การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญา บัตรหรือประกาศนียบัตร การกล่าวสดุดี หรือการกล่าวเพื่อจรรโลงใจให้ประจักษ์ในคุณงามความดีผู้ส่งสารมักเป็นบุคคลสำคัญหรือมีตำแหน่งในวงการนั้น ผู้รับสารก็เป็นบุคคลในวงการเดียวกัน หรือเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นประชาชนทั้งประเทศ สัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีต่อกันอย่างเป็นทางการ ผู้ส่งสารเป็น ผู้กล่าวฝ่ายเดียว ไม่มีการโต้ตอบ หรือถามคำถามจากกลุ่มผู้รับสาร หากจะมีก็เป็นการกล่าวตอบ ที่กระทำอย่างเป็นพิธีการในฐานะผู้แทนของกลุ่มเท่านั้น สารทุกตอน ไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มต้น ตอนดำเนินความ หรือตอนลงท้าย จะมีลักษณะเป็นพิธีรีตอง เป็นทางการ มีความจริงจังโดยตลอด กล่าวคือ มักใช้ถ้อยคำที่เลือกเฟ้นแล้ว ว่า ไพเราะสละสลวย และก่อให้เกิดความรู้สึกจรรโลงใจเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ผ้กล่าวหรือผู้ส่งสารจึงต้องเตรียมบทหรือวาทนิพนธ์มาล่วงหน้า และมักจะนำเสนอด้วยวิธีอ่านต่อหน้าที่ประชุม
2. ระดับทางการใช้ในการอภิปราย บรรยายในที่ประชุม หรือใช้ในการเขียนข้อความ ที่จะให้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นงานเป็นการ ใช้ในการประชุมที่ต่อจากช่วงที่เป็น พิธีการแล้ว จดหมายราชการจดหมายธุรกิจ สัญญาต่างๆ หรือประกาศ
ผู้ส่งสารและผู้รับสารมักอยู่ในวงการหรืออาชีพเดียวกัน สัมพันธภาพของทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นไปในด้านธุรกิจและการงาน เช่น การบอกหรือรายงานให้ทราบ ให้ความรู้เพิ่มเติมหรือเสนอความคิดเห็น
เนื้อหาของสารมีลักษณะเจาะจงเกี่ยวกับธุรกิจ หรือความรู้ความคิดที่สำคัญ น่าสนใจการใช้ถ้อยคำมักตรงไปตรงมา มุ่งเข้าสู่จุดประสงค์โดยเร็ว อาจมีศัพท์เทคนิคหรือศัพท์วิชาการ หลักของการใช้ภาษาในระดับนี้ เน้นที่การสื่อสารให้ได้ผลตามจุดประสงค์ ประหยัด ถ้อยคำ และประหยัดเวลาให้มากที่สุด
3. ระดับกึ่งทางการ ภาษาระดับนี้จะคล้ายกับภาษาในระดับทางการ แต่ลดความเป็นงานเป็นการลงบ้าง การใช้ภาษาในระดับนี้ มักใช้ในการประชุมกลุ่มย่อย การบรรยายในห้องเรียนการเขียนข่าวหรือรายงานเหตุการณ์ จะไม่ใช้คำศัพท์ที่เป็นงานเป็นการ และอาจมีการโต้ตอบหรือแลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร
4. ระดับไม่เป็นทางการ ภาษาระดับนี้ใช้สนทนาโต้ตอบกันทั่วไปในสังคม ระหว่าง ผู้คนที่รู้จักกันทำงานด้วยกันไม่เกิน 4 - 5 คน ในสถานที่ และเวลาที่ไม่ใช่ส่วนตัว เช่น การเขียนจดหมายส่วนตัว การรายงานข่าวหรือบทความบางประเภทในหนังสือพิมพ์
เนื้อหาของสารมักเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ในชีวิตประจำวัน กิจธุระต่างๆ รวมทั้งการปรึกษาหารือร่วมกัน ภาษาที่ใช้อาจเป็นถ้อยคำที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม หรือเข้าใจความหมายตรงกันในกลุ่มเท่านั้น
5. ระดับกันเอง เป็นภาษาที่ใช้ในวงจำกัด ในกลุ่มที่สนิทสนมกันมาก เช่น ในครอบครัวเพื่อนฝูง และใช้เป็นภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน ยกเว้นในการเขียนเรื่องสั้น หรือนวนิยายภาษาระดับนี้จะมีการใช้คำคะนอง คำสแลง คำเปรียบเปรย ถ้อยคำ ที่มีความหมายสองแง่หรือภาษาถิ่น เนื้อหาของสารก็เช่นเดียวกับระดับที่ 4 คือ ไม่มีขอบเขตจำกัด สถานที่ที่ใช้มักเป็นที่ส่วนตัว เช่น ที่บ้าน ในห้องที่เป็นสัดส่วนของตน
สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ การเลือกใช้ภาษาในระดับใด ให้เหมาะกับบุคคลใด ขึ้นอยู่กับโอกาส เวลา และสถานที่ ภาษาแต่ละระดับอาจมีการคาบเกี่ยวกันบ้าง เช่น ระดับที่ 1 กับ 2 ระดับที่ 2 กับ 3 ระดับที่ 3 กับ 4 และระดับที่ 4 กับ 5
ตัวอย่างการใช้ภาษาต่างระดับกัน
ระดับพิธีการ | ระดับทางการ | ระดับกึ่ง ทางการ | ระดับไม่เป็น ทางการ | ระดับกันเอง |
บุพการี | ผู้ให้กำเนิด | บิดามารดา | พ่อแม่ | |
เสพของมึ้นเมา | ดื่มสุรา | ดื่มเหล้า | กินเหล้า | ถองเหล้า |
ท่านรองประธาน กรรมการ | รองประธาน กรรมการ | รองประธานฯ | รองประธานฯ | ท่านรองฯ |
ทัณฑสถาน | เรือนจำ | ตะราง | คุก | |
หญิงงามเมือง | โสเภณี | ผู้หญิงขาย บริการ | ผู้หญิงอย่างว่า | |
สุภาพบุรุษ ท่านนั้น | ชายคนนั้น | นายคนนั้น | หมอนั่น | |
ถึงแก่กรรม | เสียชีวิต | เสียชีวิต | ตาย หรือเสีย | ชี้ ดับ หรือม่อง |
คู่ชีวิต | คู่สมรส | สามี | แฟน หรือผัว | ผัว หรือพ่อไอ้หนู |
คู่ชีวิต | ภริยา หรือคู่สมรส | ภรรยา | แฟน หรือเมีย | เมีย หรือแม่อีหนู |
ตัวอย่างที่ให้มานี้ไม่ได้แน่นอนตายตัวเสมอไป ในแต่ละระดับอาจเปลี่ยนแปลงไปได้
ตามความเหมาะสม
2. อวัจนภาษา (Non Verbal Language) อวัจนภาษาที่สำคัญและควรได้รับการฝึกฝนให้ใช้ได้ดีมี 7 ลักษณะดังนี้
1. การแสดงออกทางใบหน้า สีหน้าของคนเรานั้นบอกความหมายได้หลายอย่าง และเป็นสิ่งที่แสดงถึงเจตนาในการสื่อสารได้ด้วย เช่น ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หมายถึงความพออกพอใจ หรือใบหน้าบึ้งตึงจริงจัง ล้อเลียน อ้อนวอน ก็มีความหมายอยู่ในตัวเอง และสามารถมองเห็นได้ เข้าใจได้เช่นกัน
2. ท่ายืน ท่านั่ง และการทรงตัว ท่าต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งต้องคำนึงถึงประเพณีวัฒนธรรมไทยด้วยการนั่งไขว่ห้าง ยืนประสานมือ หรือเอียงตัวตามสบายแสดงให้เห็นเจตนาของ ผู้พูดที่แสดงความรู้สึกนึกคิดออกมากับผู้ที่เขากำลังพูดด้วยได้เป็นอย่างดี
3. การแต่งกาย เราจะมองเห็นคนอื่นได้จากการแต่งกายก่อนเสมอ ผู้ที่แต่งกายสุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับกาลเทศะ มักเรียกความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือจากบุคคลอื่นได้ดีและในทางตรงกันข้าม คนแต่งตัวไม่เรียบร้อย ไม่เหมาะสมจะถูกมองว่า ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควร
ค่าแก่การยอมรับ
การเคลื่อนไหว ในที่นี้คือ การขยับตัวหรือการเดิน ถ้าหากทำได้พอเหมาะกับเนื้อหาและเจตนาในการส่งสาร ก็จะช่วยให้การส่งสารนั้นน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
. 4. การใช้มือและแขน เป็นการใช้ประกอบบอกขนาด เล็ก ใหญ่ กว้าง ยาว บอกความซับซ้อน ความเด็ดขาด หรือความจริงจังได้ แต่ต้องไม่สับสน ใช้มือและแขนให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับเรื่องราวที่พูด
5. การใช้นัยน์ตา นัยน์ตาช่วยแสดงอารมณ์ และความรู้สึกต่างๆ เช่น ความโศกเศร้าแปลกใจ ลังเลใจ นัยน์ตาของผู้ส่งสารสามารถส่งความหมายไปให้ผู้รับสารได้ตลอดเวลา
6. การใช้น้ำเสียง น้ำเสียงเป็นอวัจนภาษาที่มีความหมายชัดเจนมากที่สุด เสียงกระแทกกระทั้นกระโชกโฮกฮาก เสียงนุ่มนวลอ่อนหวาน เสียงดังหรือค่อย ลากเสียงให้ยาว หรือเสียงห้วนสั้น ล้วนแต่มีความหมายแสดงถึงเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้พูด ดังนั้นผู้พูด จึงควรฝึกวิธีใช้น้ำเสียงให้สื่อความหมายตามต้องการโดยอาจอาศัยผู้อื่นช่วยบอกว่า น้ำเสียง ที่เราใช้ไปนั้นมีลักษณะเป็นแบบใด แข็งกระด้าง เด็ดขาด หรือห้วนเกินไป ทั้งที่บางครั้งเราไม่ได้เจตนาให้เป็นอย่างนั้น
ประเภทของอวัจนภาษา อวัจนภาษาสามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
สัมผัสภาษา เกิดจากการสัมผัสเพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนาของ ผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร เช่น การบีบเบาๆ ที่มือของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อแสดงการปลอบใจ หรือการผลักอกอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อแสดงความไม่พอใจ
อาการภาษา คือการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิริยาท่าทางที่แสดงอาการ เพื่อการสื่อสาร เช่น การกวักมือ การพยักหน้า การโค้งตัว การไหว้ ฯลฯ
วัตถุภาษา เกิดจากลักษณะภายนอกของบุคคล ได้แก่ การใช้วัสดุเพื่อความหมายบางประการ ได้แก่ แสดงฐานะทางสังคม ค่านิยม รสนิยม เช่น การแต่งกาย การใช้เครื่องประดับ รถยนต์ หรือเครื่องสำอาง
เทศภาษา คือระยะห่างของคู่สนทนา หรือการแสดงความเคารพสถานที่ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล แสดงความใกล้ชิดสนิทสนม ที่แตกต่างกันได้ การนั่งในที่สูงต่ำ ต่างระดับกันบอกฐานะทางสังคม การสำรวมกายและวาจาในวัด หรือในห้องประกอบพิธีสำคัญๆ เป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่ การแต่งกายชุดนักศึกษา เมื่อเข้าชั้นเรียน ฯลฯ
กาลภาษา คือช่วงเวลาที่ผู้ส่งสารใช้ เพื่อแสดงเจตนาของตน เช่น การไปถึง ช้ากว่าเวลาที่นัดหมาย แสดงว่า ไม่ให้ความสำคัญต่อการนัดหมาย การโทรศัพท์ถึงผู้อื่นในยามวิกาลควรเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน หรือเวลา 08.00 และ 18.00 น. เป็นเวลาเคารพธงชาติ ฯลฯ
ปริภาษา คืออวัจนภาษาเกี่ยวกับเสียง ทั้งเสียงจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือเสียงมนุษย์ที่เปล่งออกมา เช่น เสียงฟ้าร้อง สุนัขเห่า เสียงไชเรน เสียงดนตรี เสียงพูด ดัง ค่อย เร็ว ช้า การเน้นเสียงหนักเบา เป็นต้น
เนตรภาษา เกิดจากการใช้สายตา เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความประสงค์ และเจตนคติบางประการ เช่น การหลบตา การจ้องมองเพื่อแสดงความไม่พอใจการกลอกตาเพื่อยั่วโทสะ การมองด้วยหางตาเพื่อแสดงการเหยียดหยาม เป็นต้น
กลิ่น สามารถสื่อความหมายได้ เช่น กลิ่นธูปแสดงความสงบ กลิ่นน้ำหอมแสดงความสดชื่น กลิ่นสาบแสดงความสกปรก เป็นต้น
ภาพ สื่อความหมายบางอย่างถึงผู้รับสารได้ เช่น การส่งบัตร ส.ค.ส. ให้ผู้ใหญ่ควรเป็นภาพที่สวยงาม สุภาพ ประเภทศิลปวัฒนธรรม หรือดอกไม้ การสมัครงานควรใช้ภาพที่แต่งกายสุภาพเรียบร้อย เป็นรูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก เป็นต้น
สี ใช้สื่อความหมายแทนคำพูด ผู้ส่งสารควรคำนึงถึงวัฒนธรรมของแต่ละสถานที่ด้วย เช่น ควรสวมเสื้อผ้าสีดำไปงานศพ หรือสวมเสื้อผ้าสีขาวไปวัด
ลักษณะตัวอักษร เครื่องหมายวรรคตอน และกระดาษ ผู้ส่งสารพึงระมัดระวังในการสื่อความหมาย การพิมพ์ที่เน้นตัวอักษรหนาและใหญ่แสดงถึงความสำคัญการใช้เครื่องหมายวรรคตอน ช่วยเน้นความหมาย และความรู้สึกบางอย่าง เช่น ใครรับผิดชอบ? รวมทั้งการเลือกใช้กระดาษอย่างดี สีสุภาพ แสดงถึงความตั้งใจจริง และความเคารพ
นอกจากนี้อวัจนภาษาก็มีระดับของการใช้เช่นกัน การแสดงกิริยาท่าทางต่อหน้าผู้อื่น ผู้ใช้ภาษาท่าทางจะต้องคำนึงเสมอว่า เหมาะสมหรือไม่เพียงไร เช่น การระวังตนไม่ยืนพิงในท่าสบาย หรือไม่นั่งไขว่ห้างต่อหน้าผู้ใหญ่ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า อวัจนภาษามีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะสามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้ดี ช่วยเสริมความชัดเจนให้แก่วัจนภาษา และแสดงถึงระดับ วัฒนธรรมของมนุษย์
อุปสรรคของการสื่อสาร
การใช้ภาษาเป็นสื่อกลางในการติดต่อกันแต่ละครั้ง เราจะรู้ได้ว่า การติดต่อนั้นประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด บางคราวประสบผลสำเร็จดีน่าพอใจ แต่บางครั้งก็ทำให้เกิด ปัญหา และเสียเวลาต้องแก้ไข ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการขาดความรู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจึงควรศึกษาถึงอุปสรรคของการสื่อสารเพื่อให้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจป้องกันมิให้ปัญหานั้นเกิด ขึ้นได้อีก อุปสรรคของการสื่อสารโดยทั่วไปมีดังนี้
1. ผู้ส่งสาร
ขาดความรู้และประสบการณ์ในเรื่องที่จะสื่อสาร
ขาดความสนใจในเนื้อเรื่องหรือใจความสำคัญของเรื่องที่จะสื่อสาร
มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเรื่องที่จะสื่อสาร = ขาดความสันทัดในการใช้ภาษา
2. ตัวสาร
ซับซ้อนเกินไป ลึกซิ้งเกินสติปัญญาของผู้รับสาร
ห่างไกลประสบการณ์ของผู้รับสาร
มีความขัดแย้งอยู่ในตัวสาร
มีเนื้อความที่ผู้รับได้ยินบ่อยๆ ซ้าๆ
เนื้อความแปลกใหม่เกินความคิดนึกของผู้รับสาร
3. ภาษาที่ใช้
ใช้ภาษาผิดระดับ ต่ำเกินไป หรือสูงเกินไป
สำนวนภาษาไม่ตรงตามเนื้อหาของเรื่องราว
ภาษาไม่ชัดเจนพอ วกวน
4. ผู้รับสาร
มีอุปสรรคเช่นเดียวกับผู้ส่งสาร
5. สื่อ
สื่อนำสารขัดข้อง เช่น เครื่องขยายเสียงไม่ชัดเจน โทรศัพท์ไม่ดัง เขียนหนังสือหวัดมาก ตัวอักษรเลือนไป
6. กาลเทศะและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอุปสรรค เช่น
การจัดอภิปรายในวันหยุดติดต่อกันหลายวันจะไม่มีคนสนใจฟัง
การชักชวนให้ปลูกต้นไม้ในฤดูร้อนที่นักศึกษาส่วนใหญ่ปิดเทอม
การเชิญวิทยากรไปบรรยายในหัวข้อที่วิทยากรมีความรู้ไม่เพียงพอ
การจัดการแสดงกลางแจ้งในช่วงฤดูฝน และฝนตกลงมาระหว่างการแสดง
การเสนอขายสินค้าเครื่องกันหนาวในฤดูร้อน ฯลฯ
Comments